สามเดือนต้นปี ๒๕๔๘ ผ่านไปอย่างรวดเร็วเช่นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ “คน” หรือ “องค์กร” ที่ต้องทำงานเชิงรุก ในประเด็นละเอียดอ่อนและค่อนข้างร้อน เช่น กลุ่มเสขิยธรรม

ปี ๒๕๔๘ นี้เริ่มขึ้นด้วย “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” อย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เนื่องเพราะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงนี้ เป็นไป “ตามวาระ ๔ ปี” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จริงอยู่ โดยทักษะและกระบวนการ “ทางการเมือง” ของพรรคไทยรักไทย (ซึ่งหลายคนถือว่าเป็น “กโลบาย” ในรูปแบบนโยบาย) นั้น การเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐอีกครั้ง หรือหลายครั้ง ย่อมมิใช่เรื่องยาก และคงไม่ถือว่าเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจแต่ประการใด ด้วยเหตุที่หัวหน้าพรรคและคณะทำงาน “ทางการเมือง” ของพรรคนี้ ย่อมรู้เช่นเห็นชาติต่อ “พฤติกรรมทางการเมือง” ของ “คนไทย” ดีอยู่แล้ว ดังนั้น การหลอกล่อให้ทำตามคำบงการจึงมิใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไรนัก

นัยยะสำคัญทางการเมืองที่ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก จึงไปอยู่ที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย จะใช้ “ฉันทามติ” ผ่านคะแนนเสียงกว่าสิบเก้าล้าน “ไปทางไหน” ใน “๔ ปี” ข้างหน้า เสียมากกว่า

หากถือว่า ๔ ปี ที่ผ่านมาเป็นความระทมทุกข์แบบแอบแฝง (ของผู้ไม่รู้ว่าตัวเองทุกข์) ใครจะคาดการณ์ได้ ว่า ๒๕๔๘–๒๕๕๒ “ฝี” และอาการ “กลัดหนอง” จากโรคร้าย จะสำแดงตัวออกมาเมื่อใด


ในแวดวงศาสนา ทั้งศาสนิก พุทธ คริสต์ และ อิสลาม ต่างเห็นตรงกันทั้งสิ้น ว่าห่วงใยสภาวการณ์ด้าน คุณธรรม–จริยธรรม ของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ๔ ปีที่ผ่านมา ทั้งความรุนแรงโดยตรงและหลงผิดของภาครัฐ ปรากฏชัดเจนผ่านปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การนำอบายมุขมาทำให้ถูกกฎหมาย การฆ่าตัดตอนเกี่ยวกับยาเสพติด และการกระทำด้วยความรุนแรงต่อศาสนิกชน ในระหว่างปฏิบัติศาสนกิจ หรือการลอบสังหารและอุ้มฆ่าทางการเมืองดูจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ภายใต้รัฐบาล ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร

ดังนั้น ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้าย “เครือข่ายศาสนิกชน” ซึ่ง “กลุ่มเสขิยธรรมร่วมเป็นภาคี กับเพื่อนชาวคริสต์ และมุสลิม จึงจัดให้มีการอภิปรายในหัวข้อ “นโยบายศาสนากับอนาคตสังคมไทย (หลังการเลือกตั้ง) ” ขึ้นที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. โดยมี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทย และนายอภิชาติ ทองอยู่ โฆษกพรรคมหาชน ขึ้นเวทีร่วมอภิปราย และแถลงนโยบายของพรรคในด้านที่เกี่ยวข้อง ต่อหน้าศาสนิกชนทั้งสามศาสนา ที่เข้าร่วมฟัง ร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ขาดเพียงตัวแทนพรรคไทยรักไทยเท่านั้น ที่ไม่ยอมเข้าร่วมแสดงทัศนะ

กิจกรรมนี้เป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มสนใจเพื่อวิเคราะห์ สถานการณ์ และปัญหา อันเกิดจากนโยบายรัฐ และการรุกคืบจากฝ่ายทุน ด้วยมุมมองทางศาสนธรรมขึ้น จากการรวมตัวของผู้นำศาสนา นักวิชาการ นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับศาสนิกชนทั่วไปในอนาคต


ดังที่กล่าวแล้ว ว่างานข้างต้นเกิดจากการทำงานของ “เครือข่ายศาสนิกชน” ที่ประกอบด้วยองค์กรด้านศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ที่รวมตัวกันทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เสร็จจากงานนั้น จึงมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้ที่เกี่ยวข้องขึ้น ณ อาศรมวงศ์สนิท คลอง ๑๕ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ จนเกิดกลุ่มงาน และแผนระยะสั้น–ระยะยาว สำหรับการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และมีแนวโน้มที่ดีของความร่วมมือระหว่างศาสนิกชนทั้ง ๓ ศาสนา ในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง “โครงการเสริมสร้างพลังชีวิตพิชิตบุหรี่ในเพศบรรพชิต” ของกลุ่มเสขิยธรรม ก็ได้รับอนุมัติทุนดำเนินงานและจัดกิจกรรมจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปฏิบัติงานในพื้นที่นำร่อง ๕ จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ สกลนคร ยโสธร อ่างทอง และสงขลา เพื่อรณรงค์และสร้างแกนนำ ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือในการลดละเลิกบุหรี่ในเพศบรรพชิต ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเวลา ๒ ปีด้วยกัน งานนี้ทำให้กลุ่มเสขิยธรรมมีเพื่อนร่วมงานเพิ่มขึ้น ๘ คน ทั้งที่จะทำงานในพื้นที่และประสานงานต่าง ๆ ในส่วนกลาง

ดังนั้น ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๘ เพื่อนพ้องน้องพี่ในคณะทำงาน “กลุ่มเสขิยธรรม” ส่วนกลาง จึงยกขบวนไปสัมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจกับโครงการใหม่อย่างพร้อมหน้า ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต. บางพระ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ด้านต่าง ๆ จาก นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จนทำให้ทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม การสัมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีพระทวีศักดิ์ จิรธมฺโม และพระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ เป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการ มีวิทยากรด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย พระสุพจน์ สุวโจ, พระอธิการเจษฎา สมาหิโต, พระอธิการบุญชู ติสโร, รศ.ดร.ผ่องศรี ศรีมรกต และนางสาววนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะทำงาน “กลุ่มเสขิยธรรม” ในหลากหลายหัวข้อ


ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงกิจกรรมระดมทุน “ผ้าป่าเสขิยธรรม ครั้งที่ ๔” และกิจกรรม “ระดมธรรม ระดมทุน ต้านบริโภคนิยม” ที่มีการรายงานไว้แล้วเป็นการเฉพาะ ใน “เสขิยธรรม” ฉบับนี้หน้าที่ ๗๘–๘๐ สำหรับผู้สนใจ ขอให้อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ได้โดยตรงในเนื้อที่ดังที่กล่าวแล้ว

อนึ่ง สำหรับผู้ร่วมกิจอันเป็นกุศล ร่วมบริจาคสมทบ หรือร่วมเป็นเจ้าภาพผ้าป่าสามัคคี “ผ้าป่าเสขิยธรรม” ครั้งที่ ๔ ขอให้ตรวจสอบรายชื่อและจำนวนเงินบริจาคของท่านได้ ในเว็บไซต์ “เสขิยธรรม” www.skyd.org ซึ่งระบุไว้แล้วโดยละเอียด และท่านใดที่บริจาคด้วยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หากท่านยังไม่ได้ส่งสำเนาการโอนเงิน ขอความกรุณาติดต่อฝ่ายประสานงาน “กลุ่มเสขิยธรรม” โดยด่วน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางการเงินและระบบบัญชี


สุดท้ายนี้ ในนามของสมาชิก “กลุ่มเสขิยธรรม” และองค์กรภาคี–เครือข่าย ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่ง ต่อผู้ประสบภัยพิบัติ จากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ทั้งใน ๖ จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันของไทย และในภูมิภาคอื่น ๆ

กุศลใด ๆ ที่เราทั้งหลายได้กระทำแล้ว และที่จะกระทำต่อไป ทั้งในนามกลุ่ม–องค์กร และในนามบุคคล ย่อมจะส่งผลถึงท่านที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้น โดยวิถีอันเหมาะควร และเป็นพลวปัจจัยให้ได้ประสบความสุขสงบ ตามคติความเชื่อที่นับถือศรัทธาในที่สุด
“เสขิยธรรม” ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อไป ตามเหตุและปัจจัยที่เอื้ออำนวย ท่านสามารถร่วมมือและสนับสนุนเราได้เสมอ หากเห็นว่า การ “ประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม” ยังมีความจำเป็น และควรที่จะมีส่วนร่วม…

“ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมเสมอ”.